/ BTS E-Library / ระบบความปลอดภัย
ระบบความปลอดภัย

รถไฟฟ้าบีทีเอส ถือได้ว่าเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีความปลอดภัยสูง นับแต่วันแรกที่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน ไม่พบว่ามีรายงานอุบัติเหตุร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร และด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสารขณะใช้บริการ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ติดตั้ง และทดสอบความพร้อมของระบบต่างๆ การเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพในขั้นตอนการประกอบและโครงสร้าง รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุฉุกเฉิน โดยจัดเตรียมพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับใช้จัดการกรณีฉุกเฉินทั้งในขบวนรถไฟฟ้าและบนสถานี รวมถึงมาตรการควบคุมและป้องกัน ได้แก่ การฝึกซ้อมการจัดการเหตุฉุกเฉิน/เผชิญเหตุ การตรวจตรา ตรวจสอบ และการซ่อมบำรุงเชิงป้องกัน เป็นต้น เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง
บริษัทฯ ได้กำหนดนโยบายอาชีวอนามัย ความปลอดภัย และการบริหารความเสี่ยง โดยมุ่งเน้นให้ความปลอดภัยเป็นหน้าที่รับผิดชอบของทุกคน และให้ความปลอดภัยสูงสุดแก่ลูกค้า บุคลากร ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามระบบมาตรฐานสากลการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย อีกทั้งสอดคล้องตามกฎหมาย และข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการจัดการความปลอดภัยเชิงรุกที่ให้ความสำคัญต่อการจัดการความเสี่ยงในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าอย่างปลอดภัย โดยการกำจัด ลด และควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่สามารถปฏิบัติได้ รวมถึงมีการทบทวนและปรับปรุงการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริม สนับสนุนการจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงานให้เหมาะสมกับจุดประสงค์และบริบทขององค์กร ให้ความรู้ พัฒนาทักษะ ปลูกจิตสำนึก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและให้คำปรึกษาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแก่บุคลากร ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะไม่มีวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจใดสำคัญกว่าอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสได้พัฒนาเข้าสู่ระบบการจัดการความปลอดภัย (Safety Management System) ตามมาตรฐาน BPM (Best Practice Model) ของ Ricardo Rail (RR) ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการขนส่งระบบราง และได้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุดในการให้บริการ
ข้อมูลความปลอดภัย

ห้องศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้า
ด้านความปลอดภัยในการเดินรถ
ในการเดินรถปกติ รถไฟฟ้าทุกขบวนจะใช้ระบบควบคุมรถอัตโนมัติ (Automatic Train Control: ATC) ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบการเดินรถไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automatic Train Operation: ATO) โดยจำกัดความเร็วอยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีระบบป้องกันความผิดพลาดของการเดินรถ ระบบป้องกันขบวนรถอัตโนมัติ (Automatic Train Protection: ATP) เป็นระบบควบคุมระยะห่างระหว่างขบวนรถให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัย ร่วมกับระบบอาณัติสัญญาณ CBTC ที่จะติดตามตำแหน่งปัจจุบันของขบวนรถ รวมถึงควบคุมความเร็ว และคำนวณระยะห่างในแต่ละช่วงความเร็วที่ปลอดภัยที่สุด
ด้านความปลอดภัยในขบวนรถ
ห้องโดยสารของขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้รับการออกแบบไม่ให้มีส่วนแหลมคม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้โดยสาร ใช้วัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดควันพิษ และยากต่อการลุกลามเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินในขบวนรถ เช่น เพลิงไหม้ ผู้โดยสารเจ็บป่วยกะทันหัน หรือเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ผู้โดยสารสามารถแจ้งเหตุแก่เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าโดยกดปุ่มกระดิ่งสีเหลือง (Passengers Communication Unit) ที่ติดตั้งไว้บริเวณประตูรถไฟฟ้า

อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารระหว่างห้องโดยสารและห้องคนขับ
ใช้สำหรับอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าได้

ประตูกั้นชานชาลาบนสถานี ระบบประตูที่มีลักษณะเป็นกระจกสูง 1.5 เมตร เพื่อกั้นระหว่างพื้นที่สถานี และทางวิ่งรถไฟฟ้าบริเวณ ชานชาลา เพื่อป้องกันอันตรายสำหรับผู้โดยสาร
ด้านความปลอดภัยบนสถานี
โครงสร้างของสถานีได้รับการออกแบบและก่อสร้างตามมาตราฐานสากลในการออกแบบสถานีขนส่งทางราง รวมถึงมีการติดตั้งระบบป้องกันและระงับเหตุเพลิงไหม้ ได้แก่ ถังดับเพลิง สายฉีดน้ำดับเพลิง และระบบดับเพลิงอัตโนมัติทั้งระบบน้ำและแก๊ส ครอบคลุมพื้นที่ของสถานี รวมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบสายล่อฟ้า ติดตั้งปุ่มหยุดรถไฟฟ้าฉุกเฉิน (กล่องสีเหลือง) ชั้นชานชาลา เพื่อใช้หยุดการเคลื่อนที่ของรถไฟฟ้า ไม่ให้เข้าหรือออกจากสถานีในกรณีฉุกเฉิน และได้ติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติ (Half-Height Platform Screen Doors) ความสูง 1.50 เมตร ในบางสถานี เพื่อจัดระเบียบการขึ้นลงรถไฟฟ้าบีทีเอสให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และป้องกันเหตุฉุกเฉินร้ายแรง เช่น การพลัดตกลงไปในทางวิ่ง โดยในอนาคตจะมีการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาเพิ่มเติมให้ครบทุกสถานีในส่วนสัมปทานและในส่วนต่อขยายที่ 1 ที่กรุงเทพมหานครเป็นผู้ก่อสร้าง
ด้านบุคลากร
ผู้ตรวจสอบระบบปฏิบัติการ
รถไฟฟ้าบีทีเอสให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบปฏิบัติการ ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยในระบบรถไฟฟ้า การป้องกัน แก้ไข และกำจัดความเสี่ยงต่างๆ ในสิ่งที่อาจส่งผลกระทบด้านความปลอดภัย



ผู้ตรวจสอบระบบปฏิบัติการ Operations Inspector OI
บุคลากรด้านชีวอนามัย และความปลอดภัย (อาชีวอนามัย)
สำหรับการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยนั้นมีบุคลากร ความปลอดภัยทุกระดับ โดยมุ่งเน้นการกำจัด ควบคุมความเสี่ยง สนับสนุนส่งเสริม การจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัย และสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน รวมถึงการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า บุคลากร ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างต่อเนื่อง



วิทยากรความปลอดภัย
การฝึกอบรมบุคลากรภายใต้การกำกับดูแลของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสดำเนินการโดย BTS Safety Academy ที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากร ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา และผู้รับเหมาช่วงที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทฯ ให้ปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย ปราศจากการบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือสูญเสียชีวิต รวมถึงปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย โดยทีมวิทยากรความปลอดภัย ซึ่งเป็นบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย และการจัดการอาชีวอนามัย และความปลอดภัย การเรียนการสอนมุ่งเน้นให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถนำไปใช้งานได้จริงตามตำแหน่งงาน และต่อยอดด้านความปลอดภัย รวมถึงสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยให้พนักงานทุกคน



วิทยากรความปลอดภัย Safety Instructor
ด้านการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน
การตอบสนองเหตุฉุกเฉินได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพนักงานบีทีเอสกับหน่วยงานภายนอก เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่พยาบาล เป็นต้น ที่จะสาธิตขั้นตอนการปฏิบัติงานภายในบริษัทฯ กรณีเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความชำนาญในขั้นตอนปฏิบัติ ประสานงานกับภาครัฐและเอกชนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ถือเป็นการทดสอบระบบ อุปกรณ์ และความพร้อมของพนักงาน ทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติของแต่ละหน้าที่ สร้างความคุ้นเคยในการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกใน
บริษัทฯ จัดให้พนักงานร่วมฝึกซ้อมการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินกับหน่วยงานฉุกเฉินจากทางราชการและท้องถิ่น ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ศูนย์นเรนทร ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองกำกับการต่อต้านการก่อการร้าย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (อรินทราช 26) สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1 สถานีตำรวจภูธรท้องที่ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กลุ่มงานเก็บกู้วัตถุระเบิดและกองกำกับการสุนัขตำรวจ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สำนักงานเทศบาลตำบลบางปู ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลนครสมุทรปราการ โรงพยาบาลสมุทรปราการ (ศูนย์นเรนทรพึ่งได้สมุทรปราการ) สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี สำนักงานเทศบาลคูคต องค์การบริหารส่วนตำบลคูคต เป็นต้น






